สาเหตุเกิดจาก ความไม่พอใจรัฐบาลไทยของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เริ่มขึ้นจากการยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครมาเป็น ระบบมณฑลเทศาภิบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความอดอยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลาม เห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกับราษฎร ที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากภายนอก โดยอังกฤษสนับสนุน ตนกู มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของรายาปัตตานีองค์สุดท้ายให้แยกตัวออกจากไทย เพื่อแก้แค้นที่ไทยหันไป ร่วมมือ กับญี่ปุ่น แกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้น คือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอ คำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล หะยีสุหลง ถูกจับด้วยข้อหากบฏ เมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง
เหตุการณ์ในพื้นที่
การรวมกลุ่มของชาวไทยเชื้อสายมลายูในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุ อย่างแรกคือ ไม่พอใจนโยบายรัฐบาลที่รู้สึกว่าเป็นการกดขี่พวกเขา อย่างที่สองคือ รวมตัวกันต่อสู้กับ โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ที่มักข้ามแดนมารังควานชาวไทยกลุ่มนี้เป็นประจำ ซึ่งพวกเขาไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมีความระแวงกันอยู่เป็นทุนเดิม ความระแวงซึ่งกันและกันนี้เป็นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในที่สุด ทั้งโดยความเข้าใจผิดและถูกยุยงจากผู้ไม่หวังดี
- 24 เมษายน 2491 เจ้าหน้าที่รัฐได้รับรายงานว่า หะยีสะแมงฟันนายบุนกี (จีนเข้ารีตอิสลาม) ได้รับบาดเจ็บสาหัส
- 25 เมษายน 2491 ตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองรวม 4 นาย เข้าไปตรวจเหตุการณ์ในหมู่บ้าน ถูกพวกก่อการจลาจลราว 30 คนถือดาบไล่ฟัน จนต้องหนีออกจากหมู่บ้าน
- 26 เมษายน 2491 ตอนเช้า ตำรวจราว 28 นาย ยกเข้ามาที่ตลาดดุซงญอ และส่งตำรวจ 4 นาย ไปเป็นกองล่อให้ฝ่ายจลาจลแสดงตัว ผลปรากฏว่าฝ่ายจลาจลมีกำลังมากกว่า ฝ่ายตำรวจต้องล่าถอย ตำรวจที่เป็นกองล่อทั้ง 4 นายเสียชีวิตทั้งหมด ตอนค่ำ กำลังตำรวจจากจังหวัดใกล้เคียงคือ จ.ยะลา 20 นาย จ.ปัตตานี 30 นาย อ.สุไหงปาดี 8 นาย ยกมาสมทบและรวมกำลังกันที่ตำบลกรีซา 1 คืน
- 27 เมษายน 2491 กำลังตำรวจจากจ.สงขลาอีก 20 นาย มาถึง ต.กรีซา เริ่มยกพลเข้าหมู่บ้านดุซงญอ ปะทะกับพวกจลาจล ยิงโต้ตอบกันราว 3 ชั่วโมง ฝ่ายตำรวจจึงล่าถอย ระหว่างถอย ถูกฝ่ายจลาจลยิงเสียชีวิต 1 นาย
- 28 เมษายน 2491 กำลังตำรวจเข้าโจมตีหมู่บ้านดุซงญออีกครั้ง และปราบปรามฝ่ายจลาจลได้เด็ดขาด
ข้อมูลจากชาวบ้านดุซงญอ ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งขึ้นไปรวมตัวบนเขาเพื่อประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ให้อยู่ยงคงกระพัน เพื่อต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์ ในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มที่หนีการเกณฑ์ทหาร เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นทหารเกณฑ์แล้วต้องถูกบังคับให้ไหว้พระพุทธรูป เจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นไปตามตัวชาวบ้านบนเขาให้ลงมา แต่ชาวบ้านไม่ยอม ขับไล่ตำรวจลงมา ตำรวจจึงรวมกลุ่มกันขึ้นไปยิงชาวบ้านบนเขา ชาวบ้านจึงหนีลงมารวมตัวกันที่สุเหร่าและบ้านของโต๊ะเปรัก ก่อนจะถูกตำรวจยกพลเข้ามาปราบ
อนุสาวรีย์ลูกปืน
อนุสาวรีย์ลูกปืนเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์กบฏดุซงญอแต่ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สร้างเป็นรูปลูกกระสุนปืน ตั้งอยู่บนฐานทรงกลม 3 ชั้น สูง 36, 30, และ 30 เซนติเมตรตามลำดับจากล่างขึ้นบน ตัวกระสุนปืนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 34 เซนติเมตร ส่วนปลอกกระสุนสูง 150 เซนติเมตร มีช่องสี่เหลี่ยมในส่วนใกล้หัวกระสุนซึ่งสูง 25 เซนติเมตร รวมความสูงของกระสุนปืน 245 เซนติเมตร กล่าวกันว่ามีการบรรจุกระดูกของตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏดุซงญอไว้ภายใน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น