ดุซงญอ กรือเซะ ตากใบ และการยอมรับความจริงในสังคมไทย
ท่านวิทยากรได้บรรยายประกอบภาพวิดีทัศน์ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างขบวนการของชาวมลายูมุสลิมกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ทั้งที่หมู่บ้านดุซงญอ เมื่อปี ๒๔๙๑ ที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี และหน้าที่ว่าการอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี ๒๕๔๗ ดังต่อไปนี้
๑.เหตุการณ์ที่หมู่บ้านดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส (พ.ศ.๒๔๙๑)
หะยี มุฮัมหมัดสุหลง อับดุลกาแลร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หะยีสุหลง”
เมื่อปี ๒๔๙๑ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เกิดขบวนการคอมมิวนิสต์มลายา (โจรจีนคอมมิวนิสต์) ตามบริเวณพรมแดนไทย – มลายาของอังกฤษ เพื่อต่อต้านการปกครองของอังกฤษ มีกองโจรสายหนึ่งได้ล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนไทยจนถึงเขตตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และพยายามขอความร่วมมือกับชาวบ้านในท้องที่นี้ แต่ชาวบ้านปฏิเสธ ขบวนการนี้จึงแสดงท่าทีทีท่าคุกคามชาวบ้าน โดยที่ทางราชการไทยไม่ได้ใส่ใจที่จะให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนในท้องถิ่นนี้เท่าที่ควร ชาวบ้านจึงต้องจัดกำลังอาวุธคุ้มครองตัวเอง ต่อมาเกิดเหตุวิวาทส่วนบุคคลระหว่างคนในท้องที่กับคนต่างถิ่น ทางอำเภอระแงะได้เข้าสืบสวนเหตุการณ์จนทราบถึงกำลังติดอาวุธของชาวบ้าน โดยในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ได้มีเหตุการณ์จับกุมหะยี มุฮัมหมัดสุหลง อับดุลกาแลร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หะยีสุหลง” ในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน ทางผู้ปกครองอำเภอระแงะจึงเข้าใจว่ากองกำลังนี้เป็นกำลังสนับสนุนกบฏของหะยีสุหลง ดังนั้นจึงได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าปราบปราม ณ บ้านดุซงญอ ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๑ จากการปะทะมีชาวบ้านเสียชีวิต ประมาณ ๓๐ คน เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต ๕ นาย และหลังจากเหตุการณ์นี้ชาวบ้านจึงได้อพยพไปอยู่ในมลายาของอังกฤษ (ปัจจุบันเป็นประเทศมาเลเซีย) ประมาณ ๖,๐๐๐ คน และสืบลูกหลานที่นั่นโดยไม่กลับมาในฝั่งประเทศไทยอีกเลย จากเหตุการณ์นี้ทางรัฐบาลไทยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความจริงในเรื่องนี้ ปรากฏว่าเป็นการเข้าใจและการสื่อสารที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐไทย แต่ไม่ปรากฏว่ามีการลงโทษผู้กระทำผิดพลาดแต่อย่างใด
๒.เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี (พ.ศ.๒๕๔๗) มัสยิดกรือเซะสร้างโดยกษัตริย์แห่งรัฐปัตตานี ในตำแหน่งที่เป็นพระราชวังเก่าของอดีตกษัตริย์ปัตตานี และเป็นศูนย์รวมจิตใจของมุสลิมภาคใต้มาตั้งแต่สมัยรัฐปัตตานี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑) ต่อมาเมื่อรัฐบาลไทยผนวกปัตตานีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ รัฐบาลไทยได้การประกาศให้มัสยิดแห่งนี้เป็นโบราณสถาน ห้ามไม่ให้มุสลิมภาคใต้ทำศาสนกิจและศาสนพิธีใดๆ จึงเป็นการขัดต่อวิถีวัฒนธรรมของผู้คนที่นี่เป็นอย่างยิ่ง และได้เคยมีการต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่มาแล้ว ในปี ๒๕๔๗ เป็นช่วงที่เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเริ่มต้น จนถึงเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ได้มีกลุ่มบุคคลเข้าไปพักผ่อนในมัสยิดกรือเซะนี้แล้วได้ออกมาโจมตีป้อมตำรวจที่รักษาการณ์ในเมืองเพื่อแย่งอาวุธปืน ทางฝ่ายทหารตำรวจจึงส่งกำลังเข้าล้อมมัสยิด กลุ่มกองโจรจึงจับตัวประกัน ในครั้งแรกฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเลือกที่จะเจรจา แต่ภายหลังมีคำสั่งให้จัดการอย่างเด็ดขาด จึงใช้อาวุธสงครามประเภทเครื่องยิงลูกระเบิดยิงถล่มไปในมัสยิด สุดท้ายทั้งผู้ก่อการร้ายและตัวประกันทั้งหมดจำนวน ๓๒ คนเสียชีวิต
ภาพภายหลังเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ
ต่อมารัฐไทยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ ผลปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของไทยกระทำเกินกว่าเหตุ เนื่องจากกองกำลังทหารตำรวจได้ล้อมมัสยิดอยู่ก่อนแล้ว จึงควรจะเจรจากับกองโจรในมัสยิดได้ แต่ในภายหลังอัยการสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และมีการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายเพียงเล็กน้อย
๓.เหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส (พ.ศ.๒๕๔๗)
หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๗ ทางรัฐบาลได้มีมติจัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐจะฝึกอาวุธและให้ชรบ.แต่ละหน่วยจะมีอาวุธปืนหน่วยละ ๑๕ กระบอก เพื่อให้ชาวบ้านสามารถคุ้มครองรักษาตนเองได้จากกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ภาพการจับกุมจากการสลายม็อบ
ต่อมาได้เกิดเหตุปืนหายไป ๖ กระบอก ต่อมาเมื่อนำเจ้าของปืนมาสอบสวนจึงได้ทราบความว่าเจ้าของปืนได้นำปืนไปให้ผู้ก่อความไม่สงบเสียเองจึงได้จับกุมคนทั้ง ๖ นี้ ชาวบ้านรายอื่นๆ จึงได้มาชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อกดดันให้ปล่อยตัวทั้ง ๖ คนนี้ โดยลักษณะการชุมนุมจะเป็นการยั่วยุและมีการขว้างปาข้าวของ จึงมีการตัดสินใจให้สลายการชุมนุมและให้จับกุมทุกคนในที่ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร แต่ระหว่างการนำตัวผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารรถขาดแคลน เจ้าหน้าที่ทหารจึงให้ผู้ชุมนุมนอนคว่ำหน้าในรถแบบเรียงซ้อนกัน ผู้ชุมนุมจำนวน ๘๗ คน ขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนย้าย นอกจากนี้ในระหว่างการสลายการชุมนุมปรากฏว่ามีผู้ร่วมชุมนุมเสียชีวิต ๕ คน จากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความจริง ปรากฏว่าให้รัฐบาลเพียงแต่ชดใช้ค่าเสียหาย ต่อมาภายหลังรัฐบาลได้ถอนคดีต่อแกนนำทั้ง ๕๗ คน รวมทั้งผู้ที่ยักยอกปืนไปให้แก่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
เหตุการณ์ทั้งสามนี้ล้วนแต่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่ได้กระทำเกินกว่าเหตุต่อผู้ที่ก่อเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงผู้บริสุทธิ์ที่เป็นมุสลิมในพื้นที่ แต่ไม่เป็นที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดจะได้รับการลงโทษในการกระทำที่เกิดขึ้น อีกทั้งรัฐไทยก็ไม่สามารถที่จะสร้างความรู้สึกที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เหตุการณ์ทั้งสามึงเป็นสาเหตุหลักของความไม่เป็นธรรมที่สร้างบาดแผลทางความรู้สึกให้แก่ประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้ ถึงความรู้สึกแตกต่าง แปลกแยก และเป็นศัตรูระหว่างคนไทยกับคนมลายูในพื้นที่ ฉะนั้นการเริ่มต้นด้วยการสมานฉันท์ต้องเริ่มจากความจริง จะต้องอาศัยการเจรจาเป็นแนวทางหลัก “ไม่มีสงครามใดที่ยุติอย่างปราศจากการเจรจา” เพราะการที่จะให้ประชาชนหรือผู้ก่อความไม่สงบเชื่อใจและพร้อมที่จะเจรจากับรัฐ รัฐก็ต้องดูแลเรื่องต่างๆ ให้เป็นไปด้วยความเป็นธรรม แม้จะปรากฏความจริงที่อาจยอมรับไม่ได้ ทุกฝ่ายก็ต้องกล้าที่จะยอมรับและอดทนที่จะเรียนรู้ เข้าใจ และให้อภัย